8/19/2551

Night Live บนเส้นทางชีวิตคนดนตรีกลางคืนในเมืองเชียงใหม่


จะว่าไปแล้วทุกยุคทุกสมัยล้วนมีการเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งการเติบโตทางด้าน กระแสดนตรีในเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ร้านอาหารริมแม่น้ำที่เป็นยุคแรกๆของชีวิตคนดนตรีในเชียงใหม่เมื่อ เกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ที่กระแสดนตรีที่ตื่นตัวที่สุด คงไม่พ้นย่านนิมมานเหมินท์
เดอะตุ๊ก-วัชร เจริญพร เจ้าพ่อบลูส์ร็อก แห่งร้านอาหารบราสเซอรี่ ริมแม่น้ำปิง คงทำให้เราได้เห็นพัฒนาการทางดนตรีในสมัยก่อนจนถึงสมัยนี้ได้อย่างชัดเจน ที่สุด
" เชียงใหม่สมัยก่อนไม่พลุกพล่านแบบนี้ มันเงียบ มันน่ารัก วงดนตรีก็จะมีเป็นเครื่องเป่า เป็นลักษณะของไนท์คลับ บรรยากาศเป็นกันเองดี ส่วนลูกค้าก็เป็นคนไทย เป็นฝรั่งฮิปปี้จะมีกันเยอะนะ สมัยก่อนเชียงใหม่ก็เหมือนปายน่ะ มันสวย แต่ก็เปลี่ยนไปเร็วเหมือนกัน"
ถึงแม้เชียงใหม่ในสมัยก่อนที่ตุ๊กบอกว่าคล้ายกับเมืองปาย จะมีภาพลักษณ์ที่ต่างจากเชียงใหม่ในวันนี้อย่างสิ้นเชิง แต่ทว่ากลิ่นอายของบรรยากาศและความหอมหวนทางด้านเสียงดนตรีไม่ว่าจะยุคไหนๆ ยังคงตลบอบอวลไม่ต่างกัน ซึ่งตุ๊กยังคงบรรยายถึงบรรยากาศความต่างในอดีตและปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปหรือลักษณะของการแสดง ดนตรีในสมัยก่อน
" เมื่อก่อนตอนเราเรียนมอชอ เขาก็จะมีการนำวงดนตรีมาแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม บางทีก็เก็บเงินบ้าง ฟรีบ้าง วงดีๆ ปีหนึ่งก็ได้ดูกันคนละครั้งสองครั้ง งานคอนเสิร์ตรุ่นเราก็จะหารายได้ให้ชมรมกันด้วยการจัดฉายหนัง ซึ่งสมัยก่อนเวลาฉายหนังก็จะมีดนตรีเล่น เฉพาะยุคเรานะ ก็สนุกสนานดี เราซ้อมก็ได้ขึ้นไปเล่นกัน โอ้โห เท่"
ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านดนตรีเท่านั้นที่เปลี่ยนไป บรรยากาศบนถนนท่าแพย่านยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก็ต่างจากสมัยนี้โดยสิ้นเชิง " สมัยก่อน คนก็มากินข้าวมาฟังเพลง เงียบๆ แบบ เชียงใหม่มันเท่ ฝรั่งที่มาอยู่ที่นี่ก็ไม่กระจายตัว เหมือนเป็นชุมชนเล็กๆ อย่างร้านที่มีบาร์ ที่มีผู้หญิง ก็ใช่ว่าจะต้องออกมานั่งหน้าร้านประเจิดประเจ้อกันเหมือนสมัยนี้ พวกเราก็ไปเล่นดนตรีกัน คนเขาก็ฟังเพลงกันนะ ไม่ใช่จะมาซื้อขายกันอย่างเดียว มันเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันแหละเราว่า" ซึ่งในสมัยยี่สิบปีที่แล้วนั้น เพลงในยุค s60-s70 ยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางด้านแนวดนตรี
การเริ่มต้นบนเส้นทางดนตรีของแต่ละคนย่อมต่างกันไปตามยุคสมัย ตั้งแต่ตุ๊กที่เริ่มหัดจับกีต้าร์ครั้งยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหตุผลสำคัญจากการการที่ได้รับอิทธิพลทางด้านทางฟังเพลงมาตั้งแต่สมัยเด็ก โดยอาศัยการฝึกฝนในลักษณะของครูพักลักจำมาโดยตลอด จากนั้นจึงเข้าสู่ชีวิตนักดนตรีอย่างเต็มตัวที่ร้านอาหารริเวอร์ไซด์เป็น แห่งแรก ก่อนที่จะตัดสินใจทะยานข้ามฟ้าไปหาประสบการณ์ทางด้านงานดนตรีที่ต่างประเทศ แล้วจึงกลับมาประกอบอาชีพนักดนตรี พร้อมๆ ไปกับการเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร 'บราสซารี่' จนมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 20 ปี และตุ๊ก-บราสซารี่ นี่เองที่เป็น ไอดอลสำหรับนักดนตรีเชียงใหม่อีกหลายคน โดยเฉพาะ เอ๋-อนุชิต นิยมเดชา นักดนตรีแนวเร็กเก้ที่ยึดอาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพหลัก ทั้งยังใช้ดนตรีในการบำบัดจิตใจ และจรรโลงใจ ยามป่วยหรือเศร้า พร้อมทั้งตอบสนองอารมณ์ ความรู้สึก ที่เป็นตัวเขามากกว่าสิ่งอื่นใด
" บางครั้งเรามีความรู้สึกว่า การที่ต้องเอาดนตรีมาเลี้ยงตัวเองดูค่อนข้างจะเอาเปรียบที่เอาความรักมา หากิน แต่ก็ไม่ได้ถึงกับฝืนตัวเองว่าเราต้องทำเพื่อแลกกับเงินมา เพราะเรามีความสุขกับการที่เราได้ทำมันมากกว่า" นอกจากนั้น เขายังได้แสดงแนวคิดถึงหลักสำคัญของการพัฒนางานดนตรีว่าต้องอาศัยการเรียน รู้และพัฒนาตัวเองในทุกขณะที่ยังมีลมหายใจ และขณะเดียวกันถึงแม้ว่าเชียงใหม่จะเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒธรรมทาง ดนตรี แต่กลับไปได้ดีกับแนวเพลงเร็กเก้ ที่มีความหลากหลายและเรียบง่ายอยู่ในตัวเอง
อีกทั้ง ฝีมือนักดนตรีเชียงใหม่ในปัจจุบันก็สามารถพัฒนางานดนตรีได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่ง สามารถพัฒนามาเป็นอาชีพประจำได้หากรู้จักใช้จ่ายอย่างมีความพอดี แต่จะว่าไปยังมีนักดนตรีอีกไม่น้อยที่มองว่า 'อาชีพนักดนตรีเป็นงานที่ไม่ยั่งยืนและไม่แน่นอน'
มืด อภิลักหณ์ แสงทรัพย์ ปัจจุบันรับงานประจำตำแหน่งเว็บดีไซน์อยู่ที่บริษัท Click 2 Solution มีรายได้เสริมโดยการเป็นนักร้องที่ร้านอาหาร Old School ร่วมแสดงความเห็นในเรื่องของอาชีพนักดนตรีในเชียงใหม่
" ที่เราไม่ยึดเป็นอาชีพหลักก็เพราะ เราก็ไม่รู้ว่าเจ้าของร้านเขาจะปรับเปลี่ยนร้านเมื่อไหร่ จะปรับแนวทางวงดนตรีไปทางไหน หรือว่าเกิดช่วงโลว์ ซีซัน จะไม่จ้างขึ้นมาจะทำอย่างไร สู้เราทำงานกลางวันเพื่อการันตีตัวเองไว้ดีกว่า เพราะเราก็ไม่ได้เป็นคนที่ทางบ้านมีอะไรมากมาย"
มืดเริ่มเล่นดนตรีครั้งแรกกับเพื่อนๆในสมัยเรียนที่เทคโนโลยีราชมงคล และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดของยามาฮ่าในขณะนั้น แต่เมื่อเรียนจบเขาและเพื่อนในวงก็ได้แยกย้ายกันไปทำงานตามสาขาที่ตัวเอง ถนัดโดยเขาเลือกทำงานทางด้าน เว็บ ดีไซน์ เป็นงานประจำ ขณะเดียวกันเขาก็กำลังซุ่มทำเดโมเพลงเพื่อส่งเข้าประกวดในงาน Life in a-day เดือนมกราคม นอกจากนี้ งานประจำที่เขาทำอยู่ยังเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการพัฒนางานดนตรีได้เป็นอย่างดี
" จริงๆแล้วงานด้าน เว็บ ดีไซน์ ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องงานเพลงนะ อย่างในการออกแบบงานแต่ละงานเราต้องตีโจทย์ของลูกค้า จับประเด็นของตัวลูกค้าการออกแบบให้ได้ ก็เหมือนกับเราฟังเพลง ถ้าสไตล์การฟังเพลงเราฟังแจ๊ซซ์ หลักการทำงานของเราจะออกมาเป็นแบบนุ่มนวล คล้ายๆทางสร้างทางเลือกให้เรามากขึ้น ทัศนคติที่เรามีมันจะสูงขึ้น ฐานลึกมากขึ้น เพราะพวกงานออกแบบก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้มีสุนทรียะในการทำเพลงมากขึ้นนะ"
ในการทำเพลงของแต่ละคนจะว่าไปน่าจะมีเหตุผลในการจูงใจแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น เอ๋ นักร้องนำวง Ugly Bugs ที่การทำงานเพลงนั้นหมายถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะ เรียกได้ว่าการตอบสนองอารมณ์ของผู้ฟัง การทำให้ผู้ฟังเสพย์งานเพลงและมีทั้งความสุข และ ทุกข์ไปกับการฟังเพลงของเขา แต่จะว่าไปแล้วทัศนะคงจะไม่หนีจาก ตุ๊ก บราสเซอรี่ ที่เขายืนยันว่า 'การเล่นดนตรีนั้นคือชีวิต'
"เราเดินทางก็เพราะมัน เราได้เจอคนดีๆ ในชีวิต ได้เจอคนแย่ๆ ในชีวิต ก็เพราะดนตรี อธิบายยากมากนะ แต่ดนตรีมันเป็นชีวิตเราไปแล้ว"
'วินัย' คือ สิ่งที่นักดนตรีทุกรุ่นควรมี ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปอีกกี่สิบปี เพราะนั่นคือจะเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่า ชีวิตคนดนตรีได้พัฒนาไปถึงจุดไหน ตุ๊กมีความเห็นว่า วินัยอาจมิใช่เพียงแค่การตรงเวลา แต่วินัย อาจหมายถึงการรู้จักเรียนรู้อย่างไม่อาจจบสิ้น " อย่างตัวเรายังกินเหล้าสูบบุหรี่ แต่ว่าทุกวันเราจะซ้อมดนตรี เราจะค้นคว้า และเราจะฟังแบบเอาเรื่อง เป็นเรื่องเป็นราว เวลาพักผ่อนกีต้าร์ก็จะหยิบมาฝึกฝนตลอด การซ้อมมันจะไม่ใช่เอาเพลงมาแกะ แล้วก็นัดมาซ้อมกัน แต่ต้องฟังให้เยอะ ทีนี้เราจะอิมโพไวซ์ เราจะด้น ถ้าเกิดเราฟังมาก ความรู้เราก็จะเยอะ เราจะมีความสามารถเหมือนตามใจสั่ง แล้วถ้าฝันว่าจะเล่นให้ดี มีมือกลองเป็นร้อยเป็นพันให้เราศึกษา มันไม่มีวันจบสิ้น นั่นแหละวินัย ทีนี้จะไปเล่นกับใครก็ได้"
" ลองสังเกตดูว่ามือหนึ่งของโลกเขาจะไม่หยุดนิ่ง เขาจะมีอะไรใหม่ๆค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา เปิดอินพุดตลอดๆ แล้วก็เอ้าท์พุทออกมา คือทั้งรับทั้งให้ เพราะมันอยู่ในอากาศธาตุนั้นแหละ" ตุ๊ก แสดงความคิดเห็นได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับเอ๋ ที่แม้ว่าการทำงานเพลงของเขาจะเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะก็ตาม
" เราทำงานศิลปะ เราก็จะเล่นในเพลงที่แบบที่เราอยากเล่นด้วย บางครั้งเราก็ต้องเล่นให้ลูกค้าด้วย เพื่อเอาใจตลาด ทำงานแบบนี้ก็ต้องอาศัยตัวเองมาก เพราะว่าไม่มีใครมาแบบบังคับให้ทำ สำหรับเรา ถึงงานศิลปะจะไม่มีการดูหมิ่นกัน ไม่มีการแคลนกัน ไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ว่าก็ต้องมีระเบียบวินัย ต้องตรงเวลา ต้องแต่งตัวให้ดีหน่อย เพราะมันคือการเคารพตัวเอง"
แน่นอนว่าการพัฒนางานเพลงของนักดนตรีนั้น ไม่ว่าจะเล่นเป็นอาชีพ หรือเล่นเป็นงานเสริมรายได้พิเศษก็ล้วนแล้วแต่มีความฝันที่จะทำเพลงในแบบของ ตัวเองสักครั้ง แม้กระทั่งความหวังของมืด
" ตอนนี้กำลังทำเดโมเพลงกับเพื่อน จุดมุ่งหมายก็คืออยากไปงาน Life in a-day ตอนเดือนมกราคม เลย production กันเองที่เชียงใหม่เลย เพราะเราร้องเพลงคนอื่นมา 2 ปีแล้ว จนคิดว่าน่าจะมีเพลงเป็นของตัวเองบ้าง"
สำหรับเอ๋นั้น เขาเชื่อว่า 'ความสามารถของการตกผลึกงานเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด' คล้ายกับ 'เหล้าดี ที่ต้องบ่มนาน' ที่อาจสอดคล้องกับทัศนะของ มืด ที่มีต่อนักดนตรีในสมัยใหม่ ที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มารฐานของการจ้างงานนักดนตรีไม่สูง อย่างที่น่าจะเป็น
" เด็กสมัยนี้เก่งๆ เรื่องเพลงเยอะ เพราะอย่างสมัยก่อน กว่าเราจะเริ่มมาฟังเพลงที่มันยากขึ้น ก็ต้องใช้เวลานาน เด็กสมัยนี้อายุสิบแปดก็รู้จัก George Benson แล้ว เพราะโลกไปได้เร็วกว่าเดิม ซึ่งก็คงจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีหลายคนเหมือนกันที่มั่นใจในตัวเองเกินเหตุ ทั้งๆที่น่าจะเริ่มจากต่ำๆก่อนแล้วค่อยทะยานขึ้นไป ไม่รู้หรอกว่าฐานข้างล่างมันขึ้นมาอย่างไร ทำให้นักดนตรีในเชียงใหม่มาตัดราคากัน เรทค่าตัวเลยต่ำไปเรื่อยๆ อย่างเพื่อนเราเคยเล่นที่หนึ่งร้อยห้าสิบบาท ก็ถือว่าต่ำแล้วนะ เด็กมาใหม่ไฟแรงบางทีมาตัดเหลือร้อยเดียว ก็เลยทำให้มาตรฐานของนักดนตรีในเชียงใหม่ต่ำมาก"
โดยส่วนตัวแล้วมืดมีความเชื่อว่า ในอนาคตงานเพลงก็สามารถทำในเชียงใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องไปถึงในกรุงเทพฯ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ นักดนตรีต้องมีใจที่รักในงานเป็นอันดับแรก " คือถ้าเราทำแล้วคาดหวังว่าเราทำเพื่อเราจะดัง อย่าหวังเลยดีกว่า สู้เราทำด้วยมันเป็นสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ เราทำไปด้วยใจรัก ขายได้ไม่ได้ไม่ว่ากัน สิ่งที่เป็นตัวตนของตัวคุณที่สุดถ้ามันดีขึ้นมา ใครจะสนว่าอยู่ที่ไหน" ส่วนเอ๋แสดงทัศนะว่าการทำงานในเมืองหลวงอาจมีปัจจัยทางการตลาดส่งเสริมมาก กว่า แต่อย่างไรการทำเพลงไม่ว่าจะอยู่ที่เมืองไหน สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ตรงที่ความคิด
ไม่ว่าแต่ละคนจะมีแนวทางการดำเนินชีวิตนักดนตรีในลักษณะใด แต่สำหรับภาพรวมสำหรับถนนดนตรีในเชียงใหม่นั้น หลายคนต่างยอมรับว่า พวกเขาต่างภูมิใจ และเต็มใจที่ได้มาเล่นดนตรีบนถนนสายนี้ โดยเฉพาะ ตุ๊ก-บราสซารี่ ที่กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ " เราค่อนข้างภูมิใจนะที่ว่าชีวิตใหม่ของเราที่เป็นนักดนตรีแล้วเราก็เกิดที่ นี่ เพราะมันก็ยังมีเสน่ห์ของมันอยู่ ถ้าจะว่าไปแล้ววงดนตรีท้องถิ่นของเราไม่ขี้เหร่เลยนะ ทำไมเวลามีงานดนตรีต้องจัดที่หัวหิน ที่สมุย เชียงใหม่ก็ทำได้ ถ้าเพียงมีการเคลื่อนไหวกันมากกว่านี้"
"เราว่าเชียงใหม่น่าจะเป็นเมืองแห่งดนตรีเลยล่ะ"

Copyright © 2006 HIP Magazine. All rights reserved.

พอดี เจอบทความที่น่าสนใจ เพราะ 'บราสซารี่' จะเป็นร้านแรกๆที่ไปนั่งดื่มกับเพื่อนๆสมัยเรียนหนังสือที่ มช. เพราะเป็นร้านที่เล่นดนตรีได้สดถึงใจ ได้เห็นเล่น 'November Rain' ด้วยเครื่องดนตรี 3 ชิ้นก็ที่ร้านนี้นี่แหละ โดยเฉพาะ Jimi Hendrix ต้องมีเล่นให้ฟังทุกคืน

ปัจจุบันก็ยังเป็นร้านแรกๆที่ไม่เคยพลาดจะไปเยือน หากมีโอกาสขึ้นไปเชียงใหม่...